วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

10 ของขวัญจาก "เชื้อรา"

เอ่ยคำว่า "เห็ด" หลายคนนึกถึงเมนูอาหารจานเด็ด และยิ่งน้ำลายสอเมื่อเป็นเห็ดโคน เห็ดหลินจือ หรือเห็ดทรัพเฟิล และอีกสารพัดเห็ดที่ไม่ใช่เห็ดพิษ แต่หากขึ้นชื่อว่า "รา" ทำเอาทุกคนรู้สึกเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าใกล้ และนึกกลัวติดโรคร้ายจากเชื้อรา ทว่า "เห็ดรา" เป็นสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรเดียวกัน ที่มีทั้งคุณประโยชน์และโทษที่ไม่น่าพิศมัย

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเห็ดราอย่างลึกซึ้งนั้นมีไม่มาก ขณะที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอาจมีคุณประโยชน์อีกมากมายต่อมนุษย์ที่ยังไม่มีใครค้นพบ และนักวิทยาศาสตร์อังกฤษก็เกิดความกังวลว่าเราจะพลาดโอกาสดีๆ เหล่านั้นไป ดังที่ ดร.ปีเตอร์ โรเบิร์ตส (Dr. Peter Roberts) ผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดรา สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) สหราชอาณาจักร ได้ยก 10 ตัวอย่างที่เห็ดและรา (Fungi) นานาชนิดมอบให้เป็นของขวัญแก่มนุษย์ ตามรายงานจากบีบีซีนิวส์ว่ามีดังนี้

1. มาร์ไมต์ (Marmite) ครีมข้นหนืด สีน้ำตาลเข้ม รสเค็ม สำหรับทาขนมปัง ซึ่งเป็นที่นิยมในอังกฤษและอีกหลายชาติในยุโรป มาร์ไมต์ผลิตจากสารสกัดจากยีสต์ที่เหลือจากอุตสากรรมการหมักเบียร์ ซึ่งยีสต์ก็จัดเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกเดียวกับเห็ดและรา ในออสเตรเลียเรียก ดิตโต เวจจิไมต์ (Ditto Vegemite) ส่วนชาวสวิสเรียก เซโนวิส (Cenovis)

2. เบียร์ และขนมปัง (Beer and bread) อาหารหลักของชาวอังกฤษ ทั้ง 2 อย่างนี้มียีสต์เป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการผลิต ในการหมักเบียร์โดยทั่วไปจะใช้ยีสต์ชนิด แซคคาโรไมซีส เซเรวิซิอี (Saccharomyces cerevisiae) หรือบรูเวอร์สยีสต์ (Brewer's yeast) ถ้าเป็นเบียร์สดมักหมักด้วยยีสต์ชนิด แซคคาโรไมซีส คาร์ลสเบอร์เจนซิส (Saccharomyces carlsbergensis) ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิทย์ชาวเดนมาร์ก ส่วนไวน์ เหล้าแอปเปิล และเหล้าแพร์ หมักด้วยยีสต์ธรรมชาติได้หลากหลายสายพันธุ์

3. ควอร์น (Quorn) อาหารที่ใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป แต่นิยมรับประทานกันมากในหมู่ผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติ เช่น ไส้กรอกไก่เทียม ที่ทำจากเส้นใยของเชื้อรา มีการผลิตควอร์นออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 2528 หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาค้นคว้ามานานนับสิบปีตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 50 และ 60 ด้วยความกลัวที่ว่าในอนาคตจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารประเภทโปรตีน

4. กล้วยไม้ เป็นไม้ดอกเขตร้อน ที่นิยมนำไปประดับประดาเพิ่มความสวยงามสดชื่นในโรงแรมและสถานที่ต่างๆ ซึ่งในการขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของกล้วยไม้จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเชื้อราเป็นตัวช่วย

5. คาเมมเบิร์ต (camembert) ครีมชีสที่ผลิตจากรา รวมทั้งซอสถั่วเหลือง และมิโสะ (เต้าเจี้ยว) ที่ต้องหมักด้วยจุลินทรีย์จำพวกรา เหล่านี้ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้ถูกปากถูกใจนักชิมยิ่งขึ้น

6. เชื้อราช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดิน โดยเฉพาะใบไม้ กิ่งไม้ผุพัง ซึ่งราช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุจำพวกเซลลูโลสได้เป็นอย่างดี ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ เพราะการย่อยสลายทำให้ได้ธาตุอาหารหมุนเวียนกลับสู่ระบบนิเวศน์กว่า 90% และเชื้อราเป็นจุลชีพเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถย่อยลิกนินได้

7. สเตติน (Statin) ยาลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เป็นสารที่แยกได้จากเชื้อรา โมนาสคัส รูเบอร์ (Monascus ruber) และเพนิซีเลียม ซิเตรียม (Penicillium citrinum) สเตตินจะไปมีผลยับยั้งเอนไซม์สำคัญ (HMG-CoA reductase) ของกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในร่างกาย ซึ่งจะไปมีผลกระตุ้นการทำงานของแอลดีแอลรีเซพเตอร์ (LDL receptor) ให้เพิ่มการกำจัดแอลดีเอล (low-density lipoprotein: LDL) ออกจากกระแสเลือด เป็นผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงด้วยเช่นกัน

8. เพนิซิลิน (Penicillin) ยาปฏิชีวนะที่สกัดแยกครั้งแรกได้จากเชื้อรา เพนิซิเลียม ไครโซจีนัม (Penicillium chrysogenum) ซึ่งในปัจจุบันสามารถสังเคราะห์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ ที่ค้นพบในภายหลังก็เป็นสารที่แยกได้จากเชื้อราเช่นกัน ซึ่งการค้นพบเพนิซิลินครั้งแรกในปี 2471 โดยอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการแพทย์ อันส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 2488

9. แอลเอสดี (Lysergic acid diethylamide: LSD) ยาหลอนประสาทชนิดรุนแรง เป็นสารอนุพันธ์ของกรดไลเซอร์จิก (lysergic acid) ที่แยกได้จากเชื้อรา คลาวิเซพส์ เพอร์พูเรีย (Claviceps purpurea) ค้นพบครั้งแรกในปี 2481 โดยอัลเบิร์ต ฮอฟแมนน์ (Albert Hofmann) นักเคมีชาวสวิส ต่อมาภายหลังแอลเอสดีถูกจัดให้เป็นสารเสพติดให้โทษที่มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างแรง

10. โรคน้ำกัดเท้า (athlete's foot), เชื้อราในปาก (thrush) และกลากเกลื้อน (ringworm) อันมีสาเหตุมาจากเชื้อรา และคงจะเป็นเรื่องที่น่าขอบคุณน้อยยิ่งนักสำหรับสิ่งนี้ที่เชื้อรามอบให้กับพวกเรา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น